วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

หยุดกังวลใจเรื่องแผลผ่าคลอด

ที่มา mothersdigest.in.th


เพราะคุณแม่หลังผ่าตัดคลอดลูกน้อยส่วนใหญ่มักมี ปัญหาและข้อสงสัยเกี่ยวกับการดูแลแผลผ่าตัดคลอด มาถามคุณหมอ เช่น ความกังวลใจเรื่องแผลติดเชื้อ การดูแลไม่ให้แผลถูกน้ำเจ็บปวดแผลเมื่อเคลื่อนไหว ตลอดจนไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดแผลเป็นที่ไม่น่าดู วันนี้เราจึงเชิญสูติ-นรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาตอบคำถามให้ค่ะ


Q : การดูแลแผลผ่าตัดคลอดที่ถูกต้อง ควรทำอย่างไร ?

A : คุณแม่ที่มีแผลผ่าคลอดจำเป็นจะต้องรอให้แผลแห้งและติดสนิท ประมาณ 5-7 วัน คุณแม่จึงไม่สามารถอาบน้ำได้ รวมทั้งอาจต้องมีการเช็ดล้างแผล เปลี่ยนพลาสเตอร์หรือผ้าปิดแผลบ่อยๆ ส่วนแผลผ่าตัดที่ใช้กาวปิดแผล ซึ่งเริ่มใช้กันในปัจจุบันนั้น คุณแม่จะสามารถอาบน้ำได้ทันทีหลังปิดแผล และไม่ต้องล้างแผล โดยเมื่อผิวหนังชั้นนอกมีการผลัดผิว กาวปิดแผล และผิวหนังกำพร้า ชั้นนอกก็จะเกิดการหลุดลอกเองภายหลัง วันที่ 14 ซึ่งเป็นช่วงที่แผลจะติดสนิทกันดีแล้ว นอกจากนี้ คุณแม่ไม่ควรยกของหัก ไม่ยืดเหยียดแผลมาก จนทำให้แผลถูกรั้งตึงเกินไป ซึ่ง รพ. ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีทางเลือกในการดูแลแผลมาแนะนำให้แก่คุณแม่มากขึ้น


Q : ปัจจัยที่มีผลทำให้แผลผ่าตัดคลอดสวย ?

A : แผลผ่าตัดคลอดจะสวยหรือไม่เป็นแผลเป็น เกิดได้จากปัจจับหลายอย่าง เช่น ตำแหน่งของแผล ผ่าตัดคลอด การเย็บแผลของคุณหมอ ลักษณะผิวหนัง และวัสดุปิดแผล หรือประเภทของไหมที่ใช้ในการเย็บแผล ส่วนการใช้กาวปิดแผล จะช่วยยึดขอบแผลเข้าหากันได้ดี และลดแรงตึงเวลาเคลื่อนไหว มีส่วนช่วยให้เกิดผลแผลเป็นได้น้อยลง


Q : สาเหตุของการที่แผลติดเชื้อ และอาการคันเป็นผื่นแดงรอบแผลผ่าคลอด ?

A : แผลผ่าตัดคลอดที่ติดเชื้อ มักเกิดจากการดูแลแผลที่ไม่ถูกต้อง เช่น แผลถูกน้ำ แผลเกิดความ หรือมีเชื้อโรคเข้าสู่บาดแผล คุณแม่จึงควร เปลี่ยนพลาสเตอร์ หรือผ้าปิดแผล เมื่อสกปรกหรือเริ่มมีการหลุดลอกในส่วนของอาการคัน หรือเป็นผื่นแดงรอบแผล ส่วนใหญ่มักเกิดจากการแพ้ พลาสเตอร์ จนทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง

คลอดธรรมชาติเจ็บน้อยกว่าคลอดแบบผ่าตัด

ที่มา mothersdigest.in.th
“คลอดธรรมชาติ” เจ็บน้อยกว่าคลอดแบบผ่าตัดจริงหรือ?


เชื่อว่าคุณแม่ทุกคน พอใกล้ถึงวันใกล้คลอดทีไรเป็นต้องกังวลนั่นกังวลนี่กันทั้งนั้น โดยเฉพาะการคลอดธรรมชาติ  มักมีคนพูดให้ได้ยินแตกต่างกันเสมอว่า คลอดธรรมชาติไม่เจ็บ กับคลอดธรรมชาติเจ็บ ทำให้เกิดความสงสัย และส่งผลให้คุณแม่ที่ใกล้คลอดเริ่มกังวลกันแทบทั้งนั้น


การคลอดธรรมชาติ ที่ผ่านช่องคลอด

นี่เป็นการคลอดที่เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ และทารกต้องอยู่ในท่าเอาศีรษะลงเข้าสู่เชิงกราน  โดยการคลอดแบบธรรมชาตินี้ จะส่งผลดีกับคุณแม่และทารกมากกว่าการผ่าตัดคลอด และแน่นอนว่าขณะที่กำลังรอคลอด คุณแม่ทุกคนคงจะมีความรู้สึกกังวลและกลัวการเจ็บครรภ์เป็นที่สุด ซึ่งทางการแพทย์อาจจะมีวิธีบรรเทาความเจ็บปวดด้วยการใช้ยาแก้ปวด และอีกวิธีก็คือการบล็อกหลัง ซึ่งการบล็อกหลังต้องดูความเหมาะสมและความสมัครใจของคุณแม่เป็นรายๆ ไป และจะมีการปรับระดับยาที่จะลดความเจ็บปวดให้เหมาะสมกับคุณแม่ จนกระทั่งปากมดลูกเปิดหมอ 10 เซนติเมตร คุณแม่ก็ยังสามารถมีแรงเบ่งคลอดบุตรได้ ถ้าเป็นการคลอดครั้งแรก แล้วทารกมีขนาดตัวที่ค่อนข้างใหญ่ แต่คุณแม่ค่อนข้างมีรูปร่างที่ตัวเล็ก ก็อาจทำให้คุรแม่เจ็บครรภ์คลอดที่ค่อนข้างมาก อีกทั้งการที่ไม่ตัดแผลฝีเย็บเพื่อขยายช่องทางคลอด ก็อาจจะทำให้เกิดแผลฉีกขาด และเป็นอันตรายต่ออวัยวะใกล้เคียงได้เช่นกัน


การคลอดจะอยู่ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมน 3 ชนิด ซึ่งจะหลั่งมาจากต่อมใต้สมอง ซึ่งประกอบด้วยฮอร์โมนแห่งความรัก ที่จะช่วยสร้างความอบอุ่น ความรัก ความผูกพัน ระหว่างแม่กับลูก ฮอร์โมนที่ช่วยให้กล้ามเนื้อเต้านมบีบตัวเพื่อหลั่งน้ำนม และฮอร์โมนที่ทำให้มีความสุข ซึ่งจะหลั่งขณะปวดคลอด และด้วยสัญชาตญาณของทารก เขาสามารถรับรู้ถึงสายสัมพันธ์แม่ ลูก ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับอาการเจ็บเบ่งของแม่ ความรู้สึกรี้คุณแม่อาจหยั่งรู้ไม่ถึง แต่ลูกของคุณแม่รับรู้ได้ตามเส้นทางที่ธรรมชาติได้กำหนดไว้


เจ็บจริง หรือเจ็บหลอก

• การเจ็บครรภ์ในคุณแม่ใกล้คลอดนั้น จะมีอาการปวดร่วมกันพร้อมกับมีการหดรัดตัวของมดลูก ที่เป็นการปวดเหมือนกับการปวดประจำเดือน แต่การปวดท้องคลอดจะเป็นการเจ็บปวดที่บริเวณมดลูกทั้งหมด ความปวดจะมีระดับความรุนแรง(severity) ที่เพิ่มขึ้นๆ และช่วงเวลาของการปวดแต่ละครั้ง(Interval) จะสั้นลงๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าเจ็บทุกๆ 2-3 ชั่วโมง ก็เปลี่ยนเป็นเจ็บทุกๆ 30 นาที


• ความเจ็บปวดจากการที่มดลูกหดรัดตัว จะมีระยะเวลาในการปวดแต่ละครั้งที่นานขึ้นเรื่อยๆ จาก 10 วินาที เป็น 20 วินาที เป็น 40 วินาที และเมื่อคุณแม่เจ็บครรภ์คลอดจริงขึ้นมา การคลอดก็จะดำเนินต่อไปจนกระทั่งทารกคลอดเสร็จสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อทารกได้คลอดออกมา และส่งเสียงร้องขึ้นนั่นเอง


• อาการเจ็บปวดครรภ์ไม่สม่ำเสมอ เจ็บที่มีการทิ้งระยะห่างออกไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งมดลูกมีการหดรัดตัวเบาๆ ไม่รุนแรง จนกระทั่งการเจ็บปวดหยุดลง อาการนี้มักเรียกกันว่าการเจ็บครรภ์หลอก (False Labor)


Steps การเจ็บครรภ์คลอดในแบบวิถีธรรมชาติ

ระยะที่ 1 ของการคลอด First Stage of Labor  เป็นการเริ่มเจ็บครรภ์จริงจนถึงปากมดลูกเปิดหมด โดยแบ่งย่อยออกเป็น 3 ระยะ

• Early Labor เริ่มตั้งแต่ปากมดลูกยังปิดอยู่ จนกระทั่งปากมดลูกเปิดได้ 4 เซนติเมตร ก็จะมีการหดรัดตัวของมดลูก ทุกๆ 5-30 นาที เป็นระยะเวลาประมาณ 15-40 วินาที คุณแม่ที่เจ็บคลอดจะมีอาการปวดแบบปวดตะคริว มีอาการปวดหลังร่วมด้วย


• Accelerated Labor มีการหดรัดตัวของมดลูกทุกๆ 2-3 นาที เป็นระยะเวลาประมาณ 45-60 วินาที โดยการหดรัดตัวจะแรงขึ้นในระยะนี้ สารเอนเดอร์ฟินจะเริ่มหลั่งออกมาเพื่อช่วยให้ผู้คลอดสามารถดำเนินการคลอดต่อไปได้ พฤติกรรมของผู้คลอดจะเริ่มเปลี่ยนไปโดยจะเงียบลง ไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะนั่งหรือนอนอยู่กับที่ หลับตาลง อาการแสดงเหล่านี้ได้บอกว่าระดับสารเอนดอร์ฟินในร่างกายของคุณแม่นั้นมีเพียงพอสำหรับความต้องการ และการคลอดก็จะดำเนินต่อไปได้อย่างปกติ


• Transition ในระยะนี้จะมีการหดรัดตัวของมดลูกทุกๆ 1-3 นาที เป็นระยะเวลา 45-90 วินาที โดยจะหดรัดรุนแรงที่สุด และจะทำให้คุณแม่เจ็บปวดมาก ร่วมทั้งร่างกายจะมีการสร้างสารเอนเดอร์ฟินจะสูงที่สุดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้สามารถทนต่อความเจ็บปวดและทำให้ผู้คลอดมุ่งสนใจแต่ภายในตัวของผู้คลอด(Focus Inwardly) คุณแม่จะมีปฏิกิริยาในการหายใจที่ถี่และเร็วขึ้นจากการปวด ในคุณแม่บางรายอาจร้องครวญครางออกมาได้ หรือร้องขอยาแก้ปวด หรือขอให้ผ่าตัด ซึ่งหากผู้ดูแลรู้หลักการดังกล่าวแล้วก็จะช่วยประคับประคองให้การคลอดดำเนินไปสู่ระยะที่ 2 ของการคลอดโดยปราศจากการแทรกแซงที่ไม่จำเป็น เนื่องจากอาการทั้งหมดนี้เป็นผลของสารเอนเดอร์ฟิน ซึ่งช่วยให้คุณแม่สามารถลืมอาการเจ็บปวดหลังคลอดแล้ว และยังช่วยเสริมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก(Bonding) หลังคลอด ในระยะนี้มดลูกกำลังเปลี่ยนสถานะของการกระทำจากการขยายปากมดลูก เป็นการผลักดันทารกผ่านช่องทางคลอด ซึ่งสามารถจะทราบได้โดยผู้คลอดเริ่มมีความต้องการอยากที่จะเบ่ง


ระยะที่ 2 ของการคลอด Second Stage of Labor

• โดยทั่วไปหลังจากสิ้นสุดระยะที่ 1 ของการคลอดจนถึงความรู้สึกอยากเบ่งคลอดอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก มีระยะเวลาประมาณ 10-30 นาที ซึ่งเป็นระยะพักหลังจากที่ได้ผ่านการเจ็บครรภ์คลอดในระยะที่ 1 หลังจากนั้นจึงมีความรู้สึกอยากเบ่ง ดังนั้นจึงไม่ควรให้ผู้คลอดเบ่งในระยะที่อยู่ในระยะพักดังกล่าว มดลูกในระยะนี้มรการหดรัดตัวทุก 3-5 นาที เป็นระยะเวลาประมาณ 45-70 วินาที ระยะที่ 2 ของการคลอดจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อทารกคลอดออกมาแล้วส่งเสียงร้องแรกนั่นเอง


ฝึกการหายใจเพื่อการคลอด

การหายใจขณะที่กำลังจะคลอดก็มีส่วนทำให้การคลอดผ่านพ้นไปได้ด้วยดีเช่นกัน ดังนั้นการหายใจหรือการกำหนดลมหายใจเข้าออก จึงมีหลักในการให้คุณแม่ที่ใกล้คลอดได้ไปลองฝึกปฏิบัติกันดูคะ ซึ่งการหายใจจะมีอยู่ 3 ระดับ ดังนี้


• การหายใจ แบบล้างปอด

คือการสูดหายใจเข้าลึกๆ โดยใช้มือข้างหนึ่งวางไว้ที่ท้อง ถ้าหายใจถูกต้อง ท้องจะต้องป่อง จากนั้นก็ให้ผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ


• การหายใจ ระดับอก

คือการสูดหายใจ ถึงแค่ระดับอก โดยใช้มืออข้างหนึ่งวางไว้ที่อก ถ้าหายใจถูกต้อง อกจะต้องพองขึ้น จากนั้นก็ให้ผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ


• การหายใจ ระดับคอ

คือการสูดหายใจตื้นๆ เร็วๆ โดยหายใจ ถึงแค่ระดับคอ แล้วหายใจออกทางปากถี่ๆ ซึ่งการหายใจแต่ละระดับจะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายลง และบรรเทาความเจ็บปวดในระยะต่างๆ ของการคลอดได้


วิธีปฏิบัติขณะคลอด

เมื่อมดลูกเริ่มหดรัดตัว ซึ่งจะมีอาการปวดท้อง ให้หายใจล้างปอด 1 ครั้ง จากนั้นให้หายใจระดับอก นับ 1 2 3 แล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปาก นับ 1 2 3 ทำเช่นนี้ 6-9 ครั้งต่อนาที เมื่อมดลูกคลายตัวเต็มที่ ให้หายใจล้างปอดอีก 1 ครั้ง สำหรับการหายใจแบตื่นๆ ถี่ๆ จะใช้ในช่วงที่อยากเบ่ง แต่ปากมดลูกยังไม่เปิดเต็มที่ คุณพยาบาลแนะนำว่า อย่าเพิ่งเบ่ง(เพราะเบ่งยังไง ลูกก็ยังไม่คลอด ควรที่จะเก็บแรงไว้ก่อน) แต่ให้ผ่อนคลายด้วยการหายใจ ตื้นๆ ถี่ๆ โดยหายใจเข้านับ 1 หายใจออกทางปากนับ 2 ทำไปเรื่อยๆ  จนกว่าจะถึงการเบ่งคลอดขั้นสุดท้าย

วิธีดูแลสุขภาพคุณแม่ “คลอดปกติ” กับ “คลอดแบบผ่าตัด”

ที่มา mothersdigest.in.th

คุณแม่แต่ละคนเลือกวิธีการคลอดไม่เหมือนกัน บางคนเลือกคลอดแบบปกติ ขณะที่คุณแม่บางคนเลือกที่จะผ่าคลอด ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับความต้องของแต่ละคน รวมไปถึงขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคุณแม่แต่ละคนด้วย  ดังนั้นการดูแลสุขภาพของคุณแม่ที่ใช้วิธีคลอดแตกต่างกัน จึงมีเคล็ดลับมีข้อแนะนำที่แตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน


1.กรณีคลอดปกติ หลังคลอดประมาณ 1-2 ชั่วโมง พยาบาลจะตรวจวัดความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจสังเกตปริมาณเลือดที่ออกทางช่องคลอดและการแข็งตัวของมดลูก มารดาควรได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว อาจทำให้หน้ามืดเป็นลมได้ง่าย คุณแม่ควรที่จะค่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถ และควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด


น้ำคาวปลา คือ เลือดคล้ายประจำเดือนที่ไหลออกทางช่องคลอดในระยะหลังคลอด ซึ่งออกมาจากผนังมดลูกที่ลอกตัวออก  และจะค่อยๆ จางลง ช่วง 3 วันแรก น้ำคาวปลาจะมีสีแดง จากนั้นจะค่อยๆ จางลง กลายเป็นสีชมพูเรื่อๆ ภายใน 14 วัน หลังคลอด และจะหมดลงหลังคลอดไปแล้ว 6 สัปดาห์ สำหรับคุณแม่ที่ผ่าตัดคลอด น้ำคาวปลาจะจางลงและหมดเร็ว เนื่องจากแพทย์จะช่วยเช็ดทำความสะอาดโพรงมดลูกให้


แผลฝีเย็บ ในระหว่างคลอด แพทย์จะทำการตัดฝีเย็บ เพื่อป้องกันเนื้อเยื่อรอบๆ ปากช่องคลอดยืดขยายมากเกินไปวันแรกหลังคลอดถ้าแผลฝีเย็บมีอาการบวมและเจ็บมาก การได้รับยาพาราเซตามอล จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้ การดูแลแผลฝีเย็บอย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันอาการอักเสบติดเชื้อได้ ควรทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และซับให้แห้งถ้าน้ำคาวปลาออกมามาก ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ไม่ควรปล่อยให้แฉะอับชื้น ซึ่งจะทำให้มีเชื้อโรคสะสมได้


หน้าท้อง การเลี้ยงลูกด้วยนมมารดา จะช่วยให้คุณแม่น้ำหนักลดลงเร็วด้วย สีเส้นคล้ำดำที่เกิดขึ้นบริเวณหน้าท้อง เป็นผลจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ระยะหลังคลอดผิวหนังซึ่งมีสีคล้ำจะจางลงประมาณ 3-4 เดือน ผิวหนังชุดใหม่ที่สร้างขึ้นมาทดแทนเป็นสีปกติ


ช่องคลอด เนื่องจากหูรูดปากช่องคลอดถูกยืดขยายอย่างมากในระหว่างคลอด คุณแม่ควรฝึกขมิบก้น เพื่อบริหารกล้ามเนื้อช่องคลอดจะทำให้อาการดีขึ้น


2.กรณีมารดาผ่าตัดคลอด พยาบาลจะตรวจวัดความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ สังเกตปริมาณเลือดที่ออกทางช่องคลอด การแข็งตัวของมดลูก เช่นเดียวกับคุณแม่ที่คลอดปกติรวมทั้งปริมาณ สารน้ำที่ร่างกายได้รับและปริมาณปัสสาวะ


วันแรกๆ มารดาที่รับเติมยาแก้ปวดทางสายบริเวณหลังอาจเกิดอาการคันได้ จะมีการให้ยาบรรเทาอาการคัน เช่น คาลามายด์โลชั่น ยาฉีดแก้คัน


• ควรพลิกตัวไปมาบนเตียงเท่าที่ทำได้ เพื่อให้ลำไส้เริ่มทำงานได้เร็ว

• เมื่อแพทย์อนุญาตให้มารดาจิบน้ำได้ ซึ่งจะผ่านไปประมาณ 24-48 ชั่วโมง แล้วถอดสายน้ำเกลือ สายสวนปัสสาวะ  คุณแม่ควรค่อยๆ จิบน้ำหรืออาหารเหลวใสทีละน้อยบ่อยๆ และลุกเดินเท่าที่ทำได้ เพื่อป้องกันอาการท้องอืดซึ่งจะทำให้ปวดแผลเพิ่มขึ้น

• การเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ ควรทำช้าๆ เช่นเดียวกับการคลอดปกติ

• อาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ/มีไข้/เจ็บแผลมากผิดปกติควร แจ้งให้แพทย์ พยาบาลทราบเพื่อดูแลรักษา


แผลผ่าตัด ระยะแผลกำลังหาย ถ้ามีอาการคันไม่ควรเกา เพราะจะทำให้แผลนูนหนาเป็นแผลได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงการใส่กางเกงชั้นในประเภทบิกินี่ตัวเล็กๆ เพราะขอบยางยืดจะกดเสียดสีที่รอยแผล ควรใส่กางเกงชั้นในตัวใหญ่แผลผ่าจะแห้งติดสนิทในเวลาประมาณ 7-10 วัน


การปฏิบัติตัวระยะหลังคลอด ระยะหลังคลอดที่บ้าน

1.การรักษาความสะอาด คุณแม่ที่คลอดปกติสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ และควรทำความสะอาดแผลฝีเย็บด้วยสบู่และน้ำสะอาดใช้น้ำอุ่นเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บบริเวณแผล และเป็นการกระตุ้นให้มีการไหลเวียนโลหิตส่งเสริมให้แผลหายได้ ซับให้แห้งและเปลี่ยนผ้าอนามัย ทุก 3-4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการติดเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก

2.อาหาร ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ควรเน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง ได้แก่ นมอย่างน้อยวันละ 2-3 แก้ว เนื้อสัตว์ต่างๆ รวมทั้งผัก ผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมัน แป้ง ของหวาน เพราะจะทำให้คุณแม่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ควรงดอาหารรสจัด ของหมักดอง น้ำชา กาแฟ เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ยาขับน้ำคาวปลาหรือยาดองเหล้า

3.การพักผ่อน ควรพักผ่อนนอนหลับช่วงกลางคืน 6-8 ชั่วโมง และ 1/2 -1 ชั่วโมง ในเวลากลางวัน ภายหลังคลอด 6 สัปดาห์ ไม่ควรทำงานหนัก เช่น การยก แบกหาม ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออวัยวะในอุ้งเชิงกรานและแผลฝีเย็บ

4.กิจวัตรประจำวัน ควรมีการบริหารร่างกายเพื่อให้กระปรี้กระเปร่าสดชื่นอยู่เสมอ อาบน้ำสระผมตามปกติ ควรอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก

5.การมีเพศสัมพันธ์ ควรมีเพศสัมพันธ์หลังคลอดประมาณ 6 สัปดาห์ หลังคลอดไปแล้ว 6 สัปดาห์ ไข่จะเริ่มตก ดังนั้นจึงควรคุมกำเนิด แพทย์จะนัดมาตรวจและแนะนำวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม

6.อาการผิดปกติที่ต้องมาโรงพยาบาล มีไข้ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว  เต้านมหรือฝีเย็บอักเสบ น้ำคาวปลามีกลิ่นผิดปกติหรือมีสีแดงสดมีปริมาณมากขึ้น ระดูมีกลิ่นและคัน ปัสสาวะแสบขัด

7.การตรวจหลังคลอด เป็นการตรวจร่างกายทั่วไป หลังคลอด

8.อุปกรณ์ติดตัวกลับบ้าน ผ้ารัดหน้าท้องใส่เพื่อพยุงหน้าท้องเวลาเคลื่อนไหว ไม่จำเป็นต้องใส่ตลอดเวลา สามารถถอดซักได้ ควรใส่บริเวณช่วงสะโพกบนเวลานอนกลางคืนให้ถอดออก

เริ่มนับเวลาที่จะได้พบหน้าลูกแม่

ที่มา mothersdigest.in.th

เริ่มนับเวลาที่จะได้พบหน้าลูกแม่


ใกล้แล้วใกล้แล้วใกล้ถึงเวลาที่จะได้พบหน้ากับแก้วตาดวงใจแล้ว นาทีแห่งความสุขกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้คุณแม่มือใหม่กันแล้ว ไม่รู้ว่าคุณแม่ได้จูงมือคุณพ่อพากันไปเลือกซื้อเตรียมข้าวของเครื่องใช้ไว้ให้เจ้าตัวเล็กกันแล้วบ้างหรือยังเอ่ย อยากกระซิบบอกว่า ถ้ามีเวลาก็เตรียมๆ กันไว้บ้างนะคะ พอถึงเวลาลูกคลอดออกมาแล้วเดี๋ยวจะไม่มีเวลาปลีกตัวไปเตรียมได้นะคะ มีคุณแม่ท้องหลายคนที่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเซ็กซ์ระหว่างตั้งครรภ์ เราจึงมีข้อมูลดีดีมานำเสนอให้ได้ทราบกันคะ


ข้อจำกัดในการร่วมรักระหว่างตั้งครรภ์ที่สำคัญได้แก่

• ระหว่าง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ในหญิงที่มีประวัติการแท้งมาก่อน หรือในรายที่มีความเสี่ยงต่อการแท้ง หรือมีอาการที่เป็นสัญญาณของการแท้ง

• ระหว่าง 8-12 สัปดาห์สุดท้ายก่อนคลอดในรายที่มีประวัติการคลอดก่อนกำหนด หรือมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด หรือมีสัญญาณการคลอดก่อนกำหนด

• ถ้าเนื้อเยื่อของถุงน้ำคร่ำปริหรือแตก

• กรณีมีลูกแฝด ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์เลย

ยาป้องกัน การคลอดก่อนกำหนด

ยาป้องกัน การคลอดก่อนกำหนด


ปกติแล้วคนเราตั้งครรภ์ครบกำหนดเมื่ออายุครรภ์ 40 สัปดาห์ หากคลอดในระหว่าง 37-42 สัปดาห์ยังถือว่ายังอยู่ในช่วงที่ทารกจะมีสุขภาพแข็งแรงดี หากเลยกำหนดคลอด 42 สัปดาห์ขึ้นไป รกจะมีการเสื่อมสภาพ ไม่สามารถส่งอาหารให้ทารกอย่างพอเพียง คุณหมอก็จะพิจารณาช่วยเร่งการคลอด หรือผ่าตัดคลอดให้แล้วแต่กรณี ส่วนการคลอดเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์เต็ม จะถือเป็นการคลอดก่อนกำหนด ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมากๆ จะยังไม่มีความสมบูรณ์ของร่างกายมากพอที่จะอยู่ภายนอกร่างกายของแม่ได้ จะต้องทำการช่วยเหลือในการปรับสิ่งแวดล้อม ให้ทารกสามารถปรับตัวและเจริญเติบโตต่อภายนอกครรภ์มารดาได้ เช่นให้ทารกอยู่ในตู้อบที่มีอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส อาจต้องให้นมหรือสารอาหารต่างๆทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร หรือให้สารอาหารทางเส้นเลือด อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหากปอดของทารกยังไม่สมบูรณ์ดี เป็นต้น ซึ่งการที่ต้องเลี้ยงดูทารกใน NICU ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีคุณแม่คนไหนอยากจะให้เป็น ทุกคนอยากให้เด็กคลอดออกมาสมบูรณ์แข็งแรงทั้งนั้น แต่บางครั้งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อรักษาชีวิตของทั้งคุณแม่และทารก ก็อาจจำเป็นต้องให้คลอดก่อนกำหนด


เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์และยังไม่ครบกำหนด แต่เริ่มมีอาการว่าจะคลอดก่อนกำหนด คุณหมอก็มักให้การรักษา เพื่อประคับประคอง และยืดเวลาออกใปให้ทารกสามารถเจริญเติบโต ในครรภ์คุณแม่ได้นานที่สุด หรือจนครบกำหนดได้ก็จะยิ่งดี แต่การรักษานั้นก็เป็นการดูแลเมื่อปลายเหตุแล้วนะครับ การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด สามารถทำได้โดยการฝากครรภ์อย่างใกล้ชิด และการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมของคุณแม่ด้วย แต่แม้ว่าจะดูแลเป็นอย่างดีแล้ว ก็ยังมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้จากปัจจัยอื่นๆที่เราควบคุมไม่ได้ครับ


เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้รับรองยาชนิดหนึ่งซึ่งสามารถช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้เป็นครั้งแรก ชื่อว่า Makena (hydroxyprogesterone caproate) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งสงผลต่อสุขภาพของทารกแรกเกิดมากมายหลายประการ รวมถึงโอกาสรอดชีวิตของทารกด้วย


ยาชนิดนี้ถูกนำมาใช้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะในผู้ที่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนด มาก่อนโดยการตั้งครรภ์ทารกคนเดียว ซึ่งเป็นผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนดซ้ำได้อีก  และต้องเป็นการตั้งครรภ์ทารกคนเดียวเท่านั้น เนื่องจากการตั้งครรภ์แฝดมีหลายสาเหตุที่จะส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด


โดยที่ยา Makena ได้ผ่านการศึกษาและทดลองทางคลินิก ในหญิงตั้งครรภ์ 463 ราย อายุตั้งแต่ 16 - 43 ปี ซึ่งเคยตั้งครรภ์ทารกคนเดียวและมีการคลอดก่อนกำหนดมาก่อน ในกลุ่มทดลอง หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับยาป้องกันการคลอดก่อนกำหนด เกิดการคลอดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ร้อยละ 37 ในขณะที่หญิงตั้งครรภ์กลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับยาป้องกัน เกิดการคลอดก่อนกำหนดร้อยละ 55


ในการศึกษาระยะที่ 2 ได้ทำการประเมินพัฒนาการของทารกที่เกิดจากมารดาในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมดังกล่าว ซึ่งพบว่าเมื่อเด็กแรกเกิดอายุ 2.5- 5 ขวบ ทั้งสองกลุ่มมีพัฒนาการไม่แตกต่างกัน และจะมีการติดตามศึกษาต่อไปในระยะที่ 3 ตามแผนการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2018


ยา Makena นั้นสามารถให้โดยการฉีดเข้าไปบริเวณสะโพกสัปดาห์ละครั้ง เริ่มฉีดเมื่ออายุครรภ์ 16 สัปดาห์ และไม่ควรเริ่มหลังจาก 21 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ และจะสิ้นสุดการฉีดยาเมื่ออายุครรภ์ 37 สัปดาห์ อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ ได้แก่ ความเจ็บปวด บวม และคัน บริเวณที่ฉีดยา อาจมีคลื่นใส้และท้องเสียได้ด้วย


สำหรับในประเทศไทย สถิติคลอดก่อนกำหนดมีจำนวน 64,000-80,000 คน/ปี ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว จึงถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องดูแลแก้ไข กลุ่มมารดาที่มีภาวะเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ได้แก่

• หญิงตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่า 17 ปี หรือมากกว่า 35 ปี

• มีประวัติดื่มอัลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์

• ตั้งครรภ์แฝด มีปัญหารกเกาะต่ำ หรือมีความผิดปกติของมดลูก เช่น มีเนื้องอกที่มดลูกหรือปากมดลูกผิดปกติ ฯลฯ

• มีโรคประจำตัวเช่น โดยเฉพาะเบาหวาน ความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์

• มีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน มีโอกาสเป็นซ้ำ

• มีประวัติแท้งบุตรมาก่อน


คุณแม่สามารถช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนด โดยมาฝากครรภ์แต่เนิ่นๆเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ไปตรวจครรภ์ตามที่คุณหมอนัดนัด และทำตามคำแนะนำของหมออย่างเคร่งครัด  รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ ผักผลไม้สด และรับประทานโปรตีนให้เพียงพอ  ไม่บริโภคแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เท่านี้ก็ช่วยลดโอกาสเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้มาก และยังส่งผลให้คุณแม่และทารกมีสุขภาพแข็งแรงดีอีกด้วยครับ

วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

อยากตั้งครรภ์แล้วแต่กินยาคุมกำเนิดมานานต้องเตรียมตัวอย่างไร

สำหรับผู้ที่เคยกินยาคุมกำเนิดมานาน เมื่อถึงเวลาที่พร้อมที่จะตั้งครรภ์นั้น หลายคนอาจจะส่งสัยว่า หลังจากหยุดกินยาคุมแล้ว สามารถปล่อยให้ตั้งครรภ์ได้เลยหรือไม่ แล้วกินยาคุมมานานจะมีผลอะไรกับการตั้งครรภ์ไหม หรือกินยาคุมมานานจะมีผลต่อทารกในครรภ์หรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบค่ะ


ปล่อยให้ตั้งครรภ์หลังจากหยุดกินยาคุมกำเนิดได้หรือไม่
หลังจากที่คุณหยุดกินยาคุมกำเนิดแล้วยังไม่แนะนำให้ปล่อยให้ตั้งครรภ์ทันที ควรจะปล่อยให้ผ่านไปสัก 3 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้ระหว่าง 3 เดือนนี้ก็ควรจะคุมกำเนิดด้วยวิธีการอื่นๆ แทน ซึ่งในช่วง 1-2 เดือนแรก คุณอาจจะไม่มีประจำเดือนก็ไม่ต้องตกใจนะค่ะเพราะคุณไม่ได้ตั้งครรภ์หรอกค่ะ เพียงแต่หลังจากหยุดกินยาคุมกำเนิดแล้ว ประจำเดือนอาจจะมาล่าช้ากว่าเดิม เมื่อประจำเดือนเริ่มมาเป็นปกติ (ประจำเดือนเริ่มมาเป็นปกติ 3 เดือนขึ้นไป) ค่อยปล่อยให้ตั้งครรภ์ตามธรรมชาติค่ะ ระหว่างนี้ก็คงต้องให้ว่าที่คุณพ่อมือใหม่คุมกำเนิดตัวเองไปก่อน (แนะนำว่าให้ใช้ถุงยางอนามัยไปก่อนช่วงนี้)

กินยาคุมกำเนิดมานานๆ จะตั้งครรภ์ยากจริงไหม
ถ้าเป็นการกินยาคุมกำเนิดสมัยก่อน หากกินนานๆ จะมีผลทำให้ผนังมดลูกบาง ทำให้การตั้งครรภ์ (การฝังตัวอ่อน) เป็นไปได้ยาก อันนี้จริงค่ะ แต่ถ้าเป็นยาคุมกำเนิดสมัยใหม่เดี๋ยวนี้ปัญหาแบบนี้ไม่เป็นแล้วค่ะ แต่หากคุณใช้ยาคุมฉุกเฉินบ่อย อันนี้มีผลต่อการตั้งครรภ์จริงค่ะ ดังนั้นหากคุณกินยาคุมกำเนิดแบบธรรมดา (21 หรือ 28 เม็ด) มานาน ก็ไม่ต้องกังวลไปนะค่ะว่าจะตั้งครรภ์ยาก

กินยาคุมกำเนิดมานานๆ จะมีผลต่อทารกในครรภ์ไหม
อันนี้เป็นอีกคำถามที่อยู่ในหัวของว่าที่คุณแม่มือใหม่ทุกคน และคงจะกังวลมากๆ เวลาที่จะเริ่มปล่อยให้ตั้งครรภ์ ความจริงแล้วการกินยาคุมกำเนิดนั้น หากเราหยุดกิน (หลังจากกินหมดแผงอย่างถูกต้อง) แล้วปล่อยระยะไว้ 3 เดือนขึ้นไป รอให้ประจำเดือนมาปรกติตามรอบเดือน แค่นี้ร่างกายของคุณก็พร้อมที่จะตั้งครรภ์แล้วค่ะ

ต้องเตรียมตัวอย่างไรเมื่อพร้อมจะตั้งครรภ์
อย่างที่บอกไปค่ะ หลังจากหยุดกินยาคุมแล้ว เมื่อพร้อมจะตั้งครรภ์ ให้ปล่อยให้ประจำเดือนมาก่อนสัก 3 เดือน จากนั้นค่อยให้ตั้งครรภ์ ส่วนเรื่องการเตรียมตัวก็เหมือนคนทั่วๆ ไปค่ะ คือ การออกกำลังกายให้พอเหมาะ นอนหลับพักผ่อนให้มาก กินอาหารให้ครบ ดื่มน้ำให้มาก และอย่าเครียด ที่เหลือก็อาจจะใช้เครื่องมือเข้าช่วย เช่น ชุดทดสอบวันตกไข่ (ทดสอบจากน้ำปัสสาวะ) หรือถ้าไม่อยากกังวลหรือเครียดขนาดนั้น ก็บอกว่าที่คุณพ่อให้ส่งการบ้านบ่อยๆ ก็ได้นะค่ะ

สรุปแล้ว ความเชื่อที่ว่ากินยาคุมกำเนิดมานานๆ จะตั้งครรภ์ยากนั้น ไม่ถูกต้องทีเดียวค่ะ ถ้าคุณกินยาคุมกำเนิดแบบปกติ ก็แค่หยุดรอให้ประจำเดือนมา 3 เดือนขึ้นไปแล้วค่อยปล่อยตามธรรมชาติ ส่วนความเชื่อที่ว่ากินยาคุมกำเนิดมานานๆ แล้วทารกในครรภ์จะพิการ สมองไม่ดี ฯลฯ อันนี้ก็ไม่เป็นความจริง ดังนั้นสบายใจได้ค่ะ

ขอบตุณที่มา babytrick.com